ข่าวประชาสัมพันธ์

July 13, 2023

สกศ.สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญา และเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของครูภูมิปัญญาไทย

สกศ. เยือนเมืองปราสาทหิน จัด Workshop อัปสกิลครูภูมิปัญญาไทยยุคใหม่ ใส่ใจกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ณ จังหวัดบุรีรัมย์

  

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญาและเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของครูภูมิปัญญาไทย เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์การเรียนรู้ด้านหม่อนไหมโรงเรียนเกษตรต้นแบบของ   ครูรุจาภา เนียนไธสง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น ๙  อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์

 

   

  

  

สำนักงานฯ ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ .๒๕๔๙ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ นี้ สำนักงานฯ ได้จัดทำ “กิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญา และตัวอย่างแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของครูภูมิปัญญาไทย” โดยนำร่องจัดกิจกรรมให้ครูภูมิปัญญาไทย ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า ซึ่งมีผลผลิตที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย  สำนักงานฯ ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.สาวิตรี อกนิษฐ์เสนีย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมสิ่งทอและการออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทอดำเนินกิจกรรรมดังกล่าว มีครูภูมิปัญญาไทยที่มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๑๐ คน จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก่อนการอบรม ทีมวิทยากรได้สำรวจความสนใจของครูภูมิปัญญาไทย เพื่อออกแบบการอบรมที่ตอบโจทย์ เนื้อหาหลัก เช่น สิทธิในการขอรับความคุ้มครองทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น สิทธิบัตร  อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดร้านให้น่าสนใจ การจัดคลังสินค้า ฯลฯ

  

  

  

   

ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ สำนักงานฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานกิจกรรม ณ ศูนย์การเรียนของครูรุจาภา เนียนไธสง ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น ๙ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีอาจารย์นรินทร์ พสุนธราธรรม  คณะทำงาน อพ.สธ. และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลิขสิทธิ์กรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าร่วมเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับครูรุจาภา เนียนไธสง เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมแบบครบวงจร ชำนาญการทอผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าพื้นเมืองของจังหวัดบุรีรัมย์ ครูรุจาภามีความสนใจให้เสริมความรู้ในเรื่องการออกแบบลายผ้าพื้นเมืองให้มีความหลากหลายโดยยังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นการจัดวางสินค้าให้น่าสนใจ  การทอผ้าให้มีสีสันคงทน ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน GI ฯลฯ โดยมีกลุ่มชาวบ้านในวิสาหกิจชุมชน และนักศึกษาเข้าร่วมการอบรม ทีมวิทยากรได้ให้ความรู้เรื่องสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญา การออกแบบลายผ้าด้วยโปรแกรม Textile Design การรักษามาตรฐานการสินค้าตามมาตรฐาน GI การจัดตกแต่งหน้าร้าน การจัดวางสินค้า ตลอดจนเสริมเทคนิคการขายออนไลน์ ซึ่งภาพรวมในกิจกรรมนี้ นอกจากจะมีการจัดอบรมครูภูมิปัญญาไทยที่สนใจแล้ว จะมีการจัดทำคู่มือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญา (ฉบับอ่านง่าย) เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองต่อไป