สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ (อพ.สธ. – สกศ.) ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธาน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. และในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19)
ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่เพื่อทดแทนคณะทำงานอพ.สธ. – สกศ. ชุดเดิม ที่มีผู้เกษียณอายุราชการหลายท่าน จากนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ซึ่ง สกศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาแนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรมในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน โดยได้ศึกษาจากศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นจาก ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศ อีกทั้งได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย ๔ ด้าน คือ ด้านเกษตรกรรม ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการแพทย์แผนไทย และด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ตลอดจนจัดทำแผนแม่บท อพ.สธ. – สกศ. ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) และจัดทำแผ่นพับเผยแพร่งานอพ.สธ. ของ สกศ.
สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จะดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากร วัฒนธรรมและภูมิปัญญา กรณีศึกษาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อเสริมสร้างสุขภาพองค์รวม ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทยให้มีความทันสมัยและถูกต้องเพิ่มเติม จำนวน ๕ ด้าน คือ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี และด้านโภชนาการ นอกจากนี้ยังได้วางแผนจัดพิมพ์หนังสือ “แนวทางการเพิ่มศักยภาพศูนย์ การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรมในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน” จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ วางแผนจะศึกษาแนวทางปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการเสริมสร้างทักษะ การดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ของปราชญ์ชาวบ้าน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแนวทางการจัดนิทรรศการของ สกศ. ที่จะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ ๑๑ ทรัพยากรไทย: ๓๐ ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสรุปว่าจะนำเสนอองค์ความรู้ด้านการเกษตร โดยมีครูปิยมาศ คเชนทร์กำแหง ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรกรรม รุ่นที่ ๗ เป็นผู้ให้ความรู้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินโครงการปี ๒๕๖๗ โครงการจัดทำสื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย ๙ ด้าน ที่สอดคล้องและสนองภารกิจของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในโครงการจะประกอบด้วยกิจกรรมหลักได้แก่ ผลิตสื่อ อบรมให้ความรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับสิทธิทางปัญญาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนจัดทำข้อมูลเว็บไซต์ครูภูมิปัญญาไทยให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน เป็นต้น