ข่าวประชาสัมพันธ์

November 4, 2022

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เข้าร่วมประชุม “ชี้แจงการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในระดับพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ”

“การประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่อง มาจากพระราชดำริฯ ในระดับพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ” ได้รับเกียรติจากนายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนและผู้รับผิดชอบงานโครงการพระราชดำริ ผู้แทนจากส่วนกลาง อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า ๑๘๐ คน

การประชุมครั้งนี้มีการบรรยายพิเศษจำนวน ๕ หัวข้อ และมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อย ดังมีเนื้อหาโดยสรุปดังต่อไปนี้
๑. “สถาบันพระมหากษัตริย์กับการศึกษา” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
พระมหากษัตริย์ไทยทรงวางรากฐานการศึกษาไทยไว้อย่างมั่นคงมาช้านาน ด้วยทรงมีพระวิสัยทัศน์และมีพระราชดำริว่า “การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งเป็นฐานให้บุคคลก้าวไปสู่ความสำเร็จ”   ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนหลักปฏิบัติในการเรียนรู้ ๓ ประการ คือ (๑) มองทุกอย่างที่ฉันทำ (๒) จดทุกอย่างที่ฉันพูด และ (๓) สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด
๒. การขับเคลื่อนสถานศึกษาคุณธรรม โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมเป็นการสนองพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่มีเป้าหมาย “ให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” โดยมีหลักการบริหารโรงเรียน คือ (๑) ระบบธรรมาภิบาล (๒) โรงเรียนคุณธรรม (๓) โรงเรียนคุณภาพ (๔) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   และ (๕) ความเป็นรมณียสถานของโรงเรียน
๓. “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” – การสรรหาครูไทยและการขับเคลื่อนการศึกษาไทยโดยครูรางวัลพระราชทานและเครือข่ายครู” โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะ
“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เป็นรางวัลพระราชทานระดับนานาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่น ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ              ในอาเซียน ๑๑ ประเทศ และติมอร์เลสเต ผู้ทุ่มเทปฏิบัติงานและมีผลงานดีเด่นอันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในวงกว้าง แบ่งออกเป็น รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ และรางวัลครูขวัญศิษย์ การสรรหาครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเสนอชื่อครูที่สมควรได้รับรางวัลไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัดแล้วเสนอส่วนกลางนำสู่คณะกรรมการวิชาการและคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นผู้พิจารณารอบสุดท้าย
๔. “แนวทางการขับเคลื่อนสถานศึกษาพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน” โดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา แนวทางการขับเคลื่อนที่สำคัญ เช่น (๑) จัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง ขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีมาตรฐานตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับหลักพอเพียง (พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน) เป็นเป้าหมายการเรียนรู้ (๒) การจัดกิจกรรมที่สอดแทรกกิจกรรมในขั้นตอนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดและปฏิบัติตามหลักพอเพียง ตั้งคำถาม และกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด-พูด-ทำ อย่างพอเพียง (๓) การฝึกให้ผู้เรียนคิด วางแผน และปฏิบัติ ในสถานการณ์ต่าง ๆ บนหลักพื้นฐาน (ความรู้และคุณธรรม) และหลักแห่งการตัดสินใจ (พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี) รวมทั้งหลักสมดุลที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใน ๔ มิติ (วัตถุ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม)
๕. “การดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยนายพรชัย จุฑามาศ  เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ (นักวิชาการเกษตร ระดับ ๑๐)
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันมีหน่วยงานสนองพระราชดำริฯ ที่ได้รับพระราชานุญาตโดยตรง จำนวน ๒๐๔ หน่วยงาน ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกระทรวง กรม และจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด มีสถานศึกษาที่เป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน   กว่า ๕,๔๐๐ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นมากกว่า ๔,๐๐ แห่งทั่วประเทศ
๖.“นโยบายการขับเคลื่อนงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” โดย ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการ อพ.สธ. ปัจจุบัน อพ.สธ. กำลังจัดทำแผนแม่บทระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (กันยายน ๒๕๖๔ – ตุลาคม ๒๕๖๙) ซึ่งยังคงดำเนินการภายใต้ “๓ กรอบ ๘ กิจกรรม” คือ กรอบการเรียนรู้ กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก แผนแม่บทปีที่เจ็ดนี้จะ “เน้นการจัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชและทรัพยากร” เพื่อประโยชน์ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นปฏิรูปที่ ๔ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ งานสวนพฤษศาสตร์โรงเรียนจะเป็นการสร้างจิตสำนึกให้นักเรียนเห็นคุณค่าของพืชพรรณของท้องถิ่น โดยบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีกลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ (๑) ใช้กลไกศึกษาธิการจังหวัดขับเคลื่อนการดำเนินงานของจังหวัด (๒) ผลักดันให้สถานศึกษาทุกสังกัดสมัครเข้าเป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน (๓) ใช้กลไก กศน. ขับเคลื่อนการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./อบต./เทศบาล ฯลฯ)

สำหรับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อย จัดทำขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน การดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่
(๑) กลุ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
(๒) กลุ่มจิตอาสา
(๓) กลุ่มสถานศึกษาพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้ และ
(๔) สถานศึกษาคุณธรรม

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เข้าร่วมในกลุ่มที่ ๑ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งเน้นการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ที่ประชุมที่ประกอบด้วย ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด กศน. จังหวัด กศน. อำเภอ สช. และ สกศ. ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
อย่างกว้างขวาง โดยได้ร่วมกันจัดทำโครงการสนับสนุนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีกิจกรรมและแนวทางที่สำคัญ เช่น
(๑) กิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนแก่ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้รับผิดชอบงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
(๒) การจัดทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อเสนอของบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
(๓) กิจกรรมติดตามการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในสถานศึกษา
(๔) การประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษาสมัครเข้าเป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
ทั้งนี้ การดำเนินการขับเคลื่อนงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนที่ผ่านมาบางจังหวัดได้จัดทำโครงการเพื่อของบบูรณาการของจังหวัด ทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานมีความต่อเนื่องในทางปฏิบัติ
หมายเหตุ ขอขอบคุณรูปภาพจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ