สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ ๑๐ ในหัวข้อ “ทรัพยากรไทย : ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์” ในฐานะหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นประธานเปิดงานในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการประชุมวิชาการและการจัดนิทรรศการและการแสดงผลงานของหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริกว่า ๒๐๐ หน่วยงาน อาทิ การประชุมวิชาการและนิทรรศการงาน สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน ๓๓ เรื่อง การประชุมวิชาการและนิทรรศการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ๑๙ เรื่อง การประชุมวิชาการชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. กว่า ๑๐๐ เรื่อง นอกจากนั้น ยังมี การนำเสนอนิทรรศการแสดงผลงานของนักวิจัย นิทรรศการ “ใต้ร่มราชมงคล” นิทรรศการของประชาชนเครือข่ายเกษตรกรและปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงนิทรรศการแสดงผลงานของนักวิจัยและนักวิชาการจากหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริอีก ๑๓๖ หน่วยงาน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย
นายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า “สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุมวิชาการและจัดนิทรรศการในการประชุมและ นิทรรศการ ครั้งที่ ๑๐ นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี และเพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ครูอาจารย์ ประชาชน ทุกภาคส่วนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย ได้เข้ามาเรียนรู้ พัฒนาต่อยอด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและมีศักยภาพ รวมถึงร่วมกันอนุรักษ์ให้เกิดความยั่งยืน การจัดนิทรรศการครั้งนี้ สำนักงานฯ ได้เผยแพร่ผลงานและองค์ความรู้ของครูภูมิปัญญาไทย รวมถึงมีกิจกรรมฝึกวิชาชีพ ในหัวข้อ “จากเฟื่องฟ้าสู่การสร้างโมเดล ลดปัญหาสังคม” เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นถิ่นที่มีความหลากหลาย การนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า การแปรรูปเพิ่มมูลค่าของพืชพันธุ์พื้นถิ่นที่สามารถทำเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา ของใช้ ฯลฯ รวมถึงสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ โดยมีครูจินดา บุษสระเกษ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชนและทีมงานเป็นผู้ให้ความรู้”
นิทรรศการ “จากเฟื่องฟ้าสู่การสร้างโมเดลลดปัญหาสังคม” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ประกอบด้วยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน อาทิ การเรียนรู้พันธุ์พืชในชุมชน แนวคิดเรื่องธนาคารพันธุ์พืช การเพาะปลูกสมุนไพรพื้นบ้าน การเพิ่มมูลค่าสินค้าในชุมชน เช่น การทำลูกประคบ การประดิษฐ์ของเล่นพื้นบ้าน การแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ การแปรรูปเส้นหมี่โคราชเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผัดหมี่โคราช ยำหมี่โคราช ฯลฯ การผลิตเครื่องดื่มบำรุงร่างกายจากผลไม้พื้นบ้านจากพืชต่าง ๆ เช่น น้ำลูกหม่อน น้ำมะนาว น้ำมะละกอ การทำขนมพื้นบ้าน ได้แก่ ขนมดอกจอก ขนมฝักบัว ขนมนางเล็ด ขนมชั้น ขนมเปียกปูน การแปรรูปเป็นของใช้ เช่น ยาสระผม น้ำยาล้างจานจากพืชริมรั้ว ได้แก่ อัญชัน ใบเตย ฟักข้าว มะกรูด การทำสบู่สมุนไพรจากดาวอินคาและชาดาวอินคา เป็นต้น
ครูจินดา บุษสระเกษ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๖ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาร่วมจัดนิทรรศการ ทำให้ได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาไทย ภูมิใจที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาถ่ายทอดสู่การปฏิบัติ ประเทศไทยมีพันธุ์พืชหลากหลาย สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ ทั้งทำเป็นอาหาร ขนม ยา ของใช้ ของเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ ซึ่งสามารถทำให้คนในชุมชนและผู้สนใจมีอาชีพและเพิ่มรายได้ การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ตั้งใจจะนำความรู้เกี่ยวกับพืชพื้นถิ่นของจังหวัดมาเผยแพร่ เช่น ผักหวาน ซึ่งแต่เดิมคนอาจยังไม่รู้ว่ามีประโยชน์ แต่ปัจจุบัน สามารถเพาะปลูกจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอ นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเฟื่องฟ้า ที่ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริมการเพาะปลูกจนกลายเป็นพืชที่มีชื่อเสียง และอยู่ในคำขวัญของตำบล ฯลฯ รวมถึงจะเน้นให้รณรงค์เรื่อง การอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้าน ที่กำลังจะสูญหาย โดยส่งเสริม ให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์ โดยในงานจะมีการแจกเมล็ด พันธุ์พืชให้ผู้สนใจ เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์พืชและร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน สำหรับการจัดนิทรรศการของสำนักงานฯ มีผู้สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการและฝึกวิชาชีพในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันเฉลี่ยประมาณ ๒๒๐ คน รวม ๗ วัน จำนวนประมาณ ๑,๕๐๐ คน ครูจินดายังได้จัดทำใบความรู้ด้านต่าง ๆ แจกให้ผู้สนใจ เช่น ประโยชน์ของพืชสมุนไพร วิธีการทำหมี่โคราช ขนมไทยพื้นบ้าน กินอาหารเป็นยา การทำยาสระผม สบู่สมุนไพร น้ำยาล้างจาน การทำลูกประคบ เป็นต้น เพื่อให้ผู้สนใจมีความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ด้วยตนเอง