สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นประธาน ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพ.สธ. และทีมงานเข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามกรอบแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยได้เชิญผู้บริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และทีมงาน มาให้คำชี้แนะและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ – ๒๕๖๙ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ ๕ ปีที่เจ็ด
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำโดย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ และทีมงาน ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ – ๒๕๖๙ โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ สำนักงานจะดำเนิน “โครงการศึกษาวิจัยองค์ความรู้การปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของปราชญ์ชาวบ้าน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้ วิธีการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งทักษะการดำรงชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านในบริบทของท้องถิ่นต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการ และได้เชิญรองศาสตราจารย์ ดร.วรัทยา ธรรมกิตติภพ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการและทีมนักวิจัยมาให้รายละเอียดแนวทางการศึกษาวิจัย
จากนั้น สำนักงานฯ ได้นำเสนอโครงการที่วางแผนจะดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๖๘ คือ “โครงการศึกษาปัจจัยความสำเร็จการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนของสถานศึกษาต้นแบบในโครงการ อพ.สธ.” และในปีงบประมาณ ๒๕๖๙ คือ “โครงการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำ”
ทั้งนี้ นายพรชัย จุฑามาศ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยเน้นให้ปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และให้เชื่อมโยงความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ให้คำแนะนำว่าควรมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) เนื่องจากต่อไปเรื่องนี้กำลังจะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่ง สกศ. จะนำคำแนะนำมาพัฒนาโครงการและ มุ่งดำเนินงานสู่การปลูกจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากร ให้แก่ผู้เรียน และประชาชนชาวไทยต่อไป