ข่าวประชาสัมพันธ์

November 4, 2022

คณะทำงาน อพ.สธ. – สกศ. ประชุม วางแผนดำเนินงาน ปี ๖๗ เน้นเพิ่มพูนองค์ความรู้สิทธิในภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ. – สกศ.) ระยะที่ ๕ ปีที่เจ็ด (๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๙) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการ สภาการศึกษา (ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่) เป็นประธานการประชุม
การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ทราบความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ อพ.สธ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ โดย สกศ. จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาวิจัยเรื่องการส่งเสริมจิตสำนึก การอนุรักษ์ทรัพยากร วัฒนธรรมและภูมิปัญญา กรณีศึกษาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อเสริมสร้างสุขภาพองค์รวม ซึ่งการศึกษาสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ ศึกษารวบรวมข้อมูล องค์ความรู้จากครูภูมิปัญญาไทย ด้านการแพทย์แผนไทยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เกี่ยวกับพืชสมุนไพรพื้นบ้านหรือพืชสมุนไพรของแต่ละท้องถิ่น ใน ๔ ภูมิภาค และส่วนที่ ๒ ศึกษาแนวทางการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์พืชสมุนไพรพื้นบ้านจากครูภูมิปัญญาไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑ แห่ง และสถานศึกษาที่ดำเนินโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนที่ดำเนินการสร้างจิตสำนึกได้อย่างโดดเด่น จำนวน ๒ แห่ง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย และจะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ๓๐ ปี อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน ณ วันที่ ๑๙ – ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งบูธนิทรรศการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะอยู่บริเวณพื้นที่ลานจอดรถด้านข้างอาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์ แถว F5

ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาโครงการปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ตามแผนแม่บท (อพ.สธ. – สกศ.) “โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญาและตัวอย่างแนวทางการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของสถานศึกษาและครูภูมิปัญญาไทย” ซึ่งในโครงการประกอบด้วย ๔ กิจกรรม คือ ๑) กิจกรรมเสริมสร้าง องค์ความรู้ด้านสิทธิในภูมิปัญญา/ทรัพย์สินทางปัญญาและตัวอย่างแนวทางการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของสถานศึกษาและครูภูมิปัญญาไทย ๒) กิจกรรมการทำข้อมูลงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น/ครูภูมิปัญญาไทย ๓) การจัดประชุมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ๔) กิจกรรมสื่อสาร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานอพ.สธ. – สกศ. โดยมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในภูมิปัญญาและทรัพย์สินทางปัญญาให้ ครูภูมิปัญญาไทย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ที่เคยมีผลงานสร้างสรรค์ในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนให้เห็นแนวทางในการจดอนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตรในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสร้างสรรค์นวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย ช่วยเพิ่มเพิ่มมูลค่า รายได้ และพัฒนาสู่ต่อยอดสู่ระดับสากลต่อไป